วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเรียนการสอนสัปดาห์ที่3

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์การเกิดพัฒนาการทางสติปัญญาตามทฤษฎีเพียเจต์ เป็นผลเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมโดยบุคคลพยายามปรับตัวโดยใช้กระบวนการ 2 อย่าง คือ

กระบวนการดูดซึม
เป็นกระบวนการที่เกิดจากการที่เด็กพบหรือปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแล้วรับหรือดูดซึมภาพเหตุการณ์ต่างๆเข้าไว้ในความคิดของตน

กระบวนการปรับให้เหมาะ
เป็นกระบวนการปรับความรู้เดิมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่หรือสามารถปรับความคิดเดิมให้สอดคล้องกับสิ่งใหม่ ทำให้เด็กอยู่ในสภาวะสมดุล ซึ่งทำให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้

พัฒนาการทางสติปัญญา เพียเจต์ได้จัดกระบวนการทางสติปัญญา เป็น 4 ขั้น(นำเสนอเพียง2 ขั้นที่สอดคล้องกับเด็กปฐมวัย)
1.ระยะใช้ประสาทสัมผัส ตา หู มือ เท้า ระยะแรกเกิดถึง 2 ปีเป็นการเก็บข้อมูลในขั้นต้นของเด็ก
2.ระยะคุมอวัยวะต่างๆ อายุ 2-7 ปี
2.1 อายุ 2-4ปี มีพัฒนาการทางสมองที่ใช้ ควบคุมการพัฒนาลักษณะนิสัยและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอย่างง่ายๆ ใช้เหตุผลได้บ้างแต่ยังตอบตามที่ตามองเห็น
2.2 อายุ 4-6ปี ใช้ภาษาเป็นประโยคได้ดีขึ้นใช้เหตุผลได้ดีขึ้น ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การคิดเชิงอนุรักษ์คือการคิดและตอบด้วยเหตุผลนั้นคือความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณหรือปริมาตรว่าจะยังคงที่แม้รูปร่างรูปทรงจะเปลี่ยนแปลงไป
เพียเจต์ได้ลำดับความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยตามระดับพัฒนาการ
1. การจัดหมวดหมู่ ( Classification )โดยจัดพวกที่มีลักษณะเหมือนๆกันเข้าพวก
2. การเรียงลำดับ ( Seriation )โดยเรียงลำดับสิ่งที่มีลักษณะเดียวกันตามลำดับ(มีการเปรียบเทียบและเรียงลำดับโดยมีจุดเริ่มต้นเท่ากันหรือในระดับเดียวกัน
3. ความสัมพันธ์เกี่ยวกับระยะ (Spatial Relationships )ได้แก่ ระยะทางใกล้ไกลและทิศทางการเคลื่อนไหว
4. ความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา ( Temporal Relationships )เช่น นาน ,ช้า, เร็ว เป็นต้น
5. การอนุรักษ์ ( Conservation )เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับการคงที่ของปริมาณวัตถุแม้รูปร่างจะเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นเมื่อคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัยดังนั้นครูจะต้องวางแผนและเตรียมการอย่างดีเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กค้นคว้า,ค้นพบ ,แก้ปัญหา และพัฒนาความคิดรวบยอดตลอดจนทักษะและความรู้ด้านคณิตศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานการศึกษาในระดับสูงต่อไป

ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ตามหลักเพียเจต์
1. ความรู้ทางด้านกายภาพ เป็นความรู้ที่ได้จาการใช้ประสาทสัมผัส เป็นความรู้ภายนอกที่เกิดจากการปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยตรง
2. ความรู้ด้านเหตุผลทางคณิตศาสาตร์ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายในที่เกิดจากการเชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎีโดยการลงมือกระทำที่เป็นผลสะท้อนนั้นเองนั้นคือความรู้ด้านเหตุผลทางคณิตศาสตร์จะเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กได้ลงมือกระทำกิจกรรมโดยอาศัยความเชื่อมโยงจากข้อเท็จจริงที่เห็นไปสู่ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอดต่อไป การที่เด็กจะไปสรุปเรื่องต่างๆ ได้เองนั้นๆจะต้องได้รับประสบการณ์หลายๆอย่างที่ตนได้ลงมือปฎิบัติโดยใช้วัสดุรูปธรรมได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติรวมทั้งจากสภาพที่จงใจหรือมีการวางแผนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้นั้นเอง
ผู้ใหญ่จะต้องระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยก็คือ การให้เด็กได้ลงมือปฎิบัติได้ใช้สิ่งของนั้นๆได้สืบค้น ได้เลือก ได้ตัดสินใจด้วยตนเอง ได้คิดอย่างมีเหตุผล และเป็นขั้นตอน มิใช่ให้เรียนรู้แค่เพียงคำตอบที่ถูกต้องเท่านั้น


ขอบข่ายของหลักสูตรคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัยศึกษา
การจัดหลักสูตรจะต้องมีความสมดุลและอาศัยครูที่มีวิชาความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับขอบข่ายของคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย นั่นคือครูจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างลำดับขั้นการพัฒนาการของเด็กกับกระบวนการสอนและเนื้อหาทางคณิตศาสตร์ ดังที่แอลมี (Almy) กล่าวว่า “ครูที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการคิดของเด็กและเนื้อหาที่สอนเป็นอย่างดีจึงจะสอนคณิตศาสตร์ได้” นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นที่รู้จักเด็กของตนเองเป็นอย่างดี รู้ว่าแต่ละคนจะต้องใช้วิธีการอย่างไรจึงจะได้ผล และรู้ระดับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ครูจัดกิจกรรมและเนื้อหาได้เร้าใจและน่าสนใจมากขึ้น
ขอบข่ายของหลักสูตรคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัยศึกษาควรประกอบด้วยหัวข้อของเนื้อหาหรือทักษะดังต่อไปนี้
1. การนับ (counting) เป็นคณิตศาสตร์เกี่ยวกับตัวเลขอันดับแรกที่เด็กรู้จัก เป็นการนับอย่างมีความหมาย เช่น การนับตามลำดับตั้งแต่ 1-10 หรือมากกว่านั้น
2. ตัวเลข (Numeration) เป็นการให้เด็กรู้จักตัวเลขที่เห็นหรือใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ให้เด็กเล่นของเล่นเกี่ยวกับตัวเลข ให้เด็กได้นับและคิดเอง โดยครูเป็นผู้วางแผนจัดกิจกรรม อาจมีการเปรียบเทียบแทรกเข้าไปด้วย เช่น มากกว่า น้อยกว่า ฯลฯ
3. การจับคู่ (Matching) เป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักการสังเกตลักษณะต่าง ๆ และจับคู่สิ่งที่เข้าคู่กัน เหมือนกัน หรืออยู่ประเภทเดียวกัน
4. การจัดประเภท (Classification) เป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักการสังเกตคุณสมบัติของสิ่งต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันในบางเรื่อง และสามารถจัดเป็นประเภทต่าง ๆ ได้
5. การเปรียบเทียบ (Comparing) เด็กจะต้องมีการสืบเสาะและอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งหรือมากกว่า รู้จักใช้คำศัพท์ เช่น ยาวกว่า สั้นกว่า หนักกว่า เบากว่า ฯลฯ
6. การจัดลำดับ (Ordering) เป็นเพียงการจัดสิ่งของชุดหนึ่ง ๆ ตามคำสั่งหรือตามกฎ เช่น จัดบล็อก 5 แท่งที่มีความยาวไม่เท่ากัน ให้เรียบตามลำดับจากสู่ไปต่ำ หรือจากสั้นไปยาว ฯลฯ
7. รูปทรงและเนื้อที่ (Shape and Space) นอกจากให้เด็กได้เรียนรู้รูปทรงและเนื้อที่จากการเล่นตามปกติแล้ว ครูยังต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า ความลึก ตื้น กว้างและแคบ
8. การวัด (Measurement) มักให้เด็กลงมือวัดด้วยตนเอง ให้รู้จักความยาวและระยะทาง รู้จักการชั่งน้ำหนักและรู้จักการประมาณอย่างคร่าว ๆ ก่อนที่เด็กจะรู้จักการวัด ควรให้เด็กได้ฝึกฝนการเปรียบเทียบและการจัดลำดับมาก่อนที่เด็กจะรู้จักการวัด ควรให้เด็กได้ฝึกฝนการเปรียบเทียบและการจัดลำดับมาก่อน
9. เซท (Set) เป็นการสอนเรื่องเซทอย่างง่าย ๆ จากสิ่งรอบ ๆ ตัว มีการเชื่อมโยงกับสภาพรวม เช่น รองเท้ากับถุงเท้า ถือว่าเป็นหนึ่งเซท หรือห้องเรียนมีบุคคลหลายประเภท แยกเป็นเซทได้ 3 เซท คือ นักเรียน ครูประจำชั้น ครูช่วยสอน เป็นต้น
10. เศษส่วน (Fraction) ปกติแล้วการเรียนเศษส่วนมักเริ่มเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 แต่ครูปฐมวัยสามารถสอนได้โดยเน้นส่วนรวม (The Whole Object) ให้เด็กเห็นก่อน มีการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้เข้าในความหมายและมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับครึ่งหรือ1/2
11. การทำตามแบบหรือลวดลาย (Patterning) เป็นการพัฒนาให้เด็กจดจำรูปแบบหรือลวดลาย และพัฒนาการจำแนกด้วยสายตา ให้เด็กฝึกสังเกตฝึกทำตามแบบและต่อให้สมบูรณ์
12. การอนุรักษ์ (Conservation) ช่วงวัย 5 ขวบขึ้นไป ครูอาจเริ่มสอนเรื่องการอนุรักษ์ได้บ้าง โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง จุดมุ่งหมายของการสอนเรื่องนี้ก็คือ ให้เด็กมีความคิดรวบยอดเรื่องการอนุรักษ์ที่ว่า ปริมาณของวัตถุจะยังคงที่ไม่ว่าจะย้ายที่หรือทำให้มีรูปร่างเปลี่ยนไปก็ตาม

อ. จ๋า
จากหนังสือคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย อ.นิตยา ประพฤติกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: